Wednesday, March 4, 2009

พระราชประวัติ


พระราชประวัติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์
ด้วยเหตุที่ทรงบำเพ็ญพระราชกิจจานุกิจนานัปการอันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาพระราชอิสริยยศ และพระราชอิสริยศักดิ์ เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ และจากพระวิริยะอุตสาหะในการทรงศึกษาหาความรู้และบำเพ็ญพระราชกิจนานัปการ พระเกียรติคุณ เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง ทั้งในราชอาณาจักร และนานาชาติ จึงทรงรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แห่งราชอาณาจักรไทย และทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

· พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์
· เครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย
· เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
การศึกษา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มต้นการศึกษาระดับอนุบาล เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ ณ โรงเรียนจิตรลดา ในเขตพระราชฐาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยทรงศึกษา ต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษา ทรงเอาพระทัยใส่ในการเรียน โปรดการอ่าน และการศึกษาวรรณคดี ทั้งของไทยและต่างประเทศ ทรงเริ่มแต่งคำประพันธ์ต่าง ๆ ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง ตั้งแต่ยังทรงศึกษา ในชั้นประถมศึกษา โปรดการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ทั้งด้านกีฬา ดนตรี บันเทิง และกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษา ประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ จากโรงเรียนจิตรลดา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเข้าศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะมีพระราชภารกิจ โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ไปเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ แต่ก็ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ในการเรียนอย่างยิ่ง และยังทรงร่วม กิจกรรมของคณะ และของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับนิสิตทั่วไป ในปีการศึกษา ๒๕๑๙ ทรงสำเร็จการศึกษา และทรงเข้ารับพระราชทานปริญญา อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์
ในพุทธศักราช ๒๕๒๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อ ระดับมหาบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันทั้งสองแห่ง ทรงสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีการศึกษา ๒๕๒๒ หลังจากนั้น ทรงสำเร็จการศึกษา อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลี - สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา ๒๕๒๔ ต่อมา ด้วยความสนพระทัยงานด้านการพัฒนา โดยอาศัยหลักวิชาการศึกษา หรือการเรียนรู้เป็นแกน จึงทรงสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงสำเร็จการศึกษา และรับพระราชทานปริญญา การศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ในปีการศึกษา ๒๕๒๙
หลักคิดในการใช้การศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการสร้าง และพัฒนาความรู้ ความคิดของประชาชน และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน และสังคม ที่ทรงได้รับจากการศึกษา ในระดับดุษฎีบัณฑิต ผนวกกับประสบการณ์ ที่ทรงเรียนรู้ จากการโดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นพื้นฐานความรู้ที่แข็งแกร่ง ในการทรงงานพัฒนา ของพระองค์เอง ในเวลาต่อมา จวบจนปัจจุบัน
นอกเหนือจากการศึกษาในระบบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังสนพระทัยศึกษาเพิ่มเติม ดูงาน ประชุมสัมมนา และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ในวิชาการด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน เช่น ภูมิศาสตร์กายภาพ อุทกศาสตร์ พฤกษศาสตร์ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ รีโมตเซนซิ่ง ระบบภูมิสารสนเทศ แผนที่ โภชนาการ เป็นต้น ด้วยมีพระราชประสงค์ ที่จะนำความรู้ที่ได้จากวิชาการเหล่านี้ ไปประยุกต์ใช้ในการทรงงานพัฒนาชุมชน และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
· พระราชประวัติการศึกษา
· การศึกษาดูงานและการประชุมทางวิชาการ พุทธศักราช ๒๕๒๐ - ๒๕๔๐
· การศึกษาดูงานและการประชุมทางวิชาการ พุทธศักราช ๒๕๔๑ - ปัจจุบัน
การรับราชการ
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว ในพุทธศักราช ๒๕๒๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๓๐ ได้มีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระยศ พันเอก ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากอง (ซึ่งต่อมาได้มีการขยายตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองในพุทธศักราช ๒๕๓๒ พร้อมกับกองอื่น ๆ) ทรงเป็นผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์พระองค์แรกจนถึงปัจจุบัน มีพระราชภารกิจ ทั้งการบริหาร การสอน และงานวิชาการอื่น ๆ ต่อมา ทรงได้รับพระราชทานพระยศ พลเอก ในพุทธศักราช ๒๕๓๙ และทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ (อัตราจอมพล) ในพุทธศักราช ๒๕๔๓ นอกจากนี้ ยังได้ทรงรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชาการ ณ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศิลปากร
· พระยศและพระตำแหน่งทางราชการ
พระราชกิจ
นอกเหนือจากพระราชภารกิจในหน้าที่ราชการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ครอบคลุมงานสำคัญ ๆ อันเป็นประโยชน์หลักของบ้านเมือง เกือบทุกด้าน และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้ทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจที่ทรงสืบสาน ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ มอบหมาย โดยเฉพาะการทรงงาน ด้านการบริหารองค์การ และมูลนิธิ เพื่อสาธารณกุศล ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในโอกาสต่าง ๆ เช่น การพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้า ฯ การพระราชทานปริญญาบัตร การถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงจัดตั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนผู้ยากไร้ในชนบท โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพอนามัย และแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ทรงเห็นว่าเด็กจะเรียนหนังสือไม่ได้ ถ้าท้องหิว หรือเจ็บป่วย จึงทรงริเริ่มโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ก่อสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ศูนย์การเรียนชุมชนสำหรับชาวไทยภูเขา ห้องเรียนเคลื่อนที่ ทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นค่าตอบแทนครูผู้สอน และทรงจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนพระราชทาน เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม จะได้มีความสามารถในการพึ่งตนเอง และเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ในอนาคต ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการตามพระราชดำริอย่างใกล้ชิด และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในโครงการ ด้วยพระองค์เองเสมอ
จากการที่มีประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล หรือสมทบทุนดำเนินงานโครงการพัฒนาต่าง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นำเงินที่มีผู้ทูลเกล้า ฯ ถวายดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นกองทุน ทุนการกุศลสมเด็จพระเทพ ฯ เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์อื่น ๆ
นอกเหนือจากงานพัฒนา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระทัยงานศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่า ควรจะมีการถ่ายทอดงานด้านวัฒนธรรมไปสู่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาอบรม ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เรียนรู้ ตระหนักความสำคัญ รักและผูกพันในศิลปวัฒนธรรมของชาติ สามารถสืบทอดเพื่อการอนุรักษ์และอาจพัฒนาเป็นอาชีพได้ ทรงสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทย พระอุตสาหะในการปฏิบัติกิจการอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชน เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรทั่วหน้า จึงทรงได้รับการทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลเกียรติยศ พระเกียรติคุณ ตำแหน่งเกียรติยศ และปริญญากิตติมศักดิ์ จากสถาบัน หน่วยงานและองค์กร ทั้งในราชอาณาจักรและต่างประเทศจำนวนมาก
พระราชจริยาวัตรที่ประชาชนทั่วไปได้เห็นประจักษ์ คือ พระเมตตาและความเอาพระทัยใส่ในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชปณิธานที่จะช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยาก เดือดร้อนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา พสกนิกรต่างยกย่อง และชื่นชมในพระบารมี ดังนั้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่ทรงมีคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด จึงมีบุคคล หน่วยงาน สมาคม และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในราชอาณาจักรและในต่างประเทศ ขอพระราชทานอัญเชิญพระนามาภิไธย และขอพระราชทานนาม ไปเป็นชื่อพรรณพืช และสัตว์ที่ค้นพบใหม่ในโลก รวมทั้งสถานที่ และสิ่งต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเป็นสิริมงคลสืบไป นอกจากนี้ ยังได้ทรงพระกรุณารับสมาคม สถาบัน และองค์กรต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริ หรือที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่ทรงให้การสนับสนุน ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ขาดแคลน หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ไว้ในพระราชูปถัมภ์
· รางวัลเกียรติยศและพระเกียรติคุณ
· ตำแหน่งเกียรติยศ
· ปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันในประเทศไทย พุทธศักราช ๒๕๒๐ - ๒๕๔๐
· ปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันในประเทศไทย พุทธศักราช ๒๕๔๑ - ปัจจุบัน
· ปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันต่างประเทศ
· พระนามาภิไธยและนามพระราชทานพรรณพืชและสัตว์
· พระนามาภิไธยและนามพระราชทานสถานที่และสิ่งต่าง ๆ
· สมาคม สถาบัน และองค์กรในพระราชูปถัมภ์
งานอดิเรก
ยามที่ทรงว่างจากพระราชกิจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถโดยทรงมี งานอดิเรกที่สนพระทัย หลายประเภท เช่น ดนตรี งานศิลป์ กีฬา งานสะสม การทัศนศึกษา การอ่านและสะสมหนังสือ ทรงมีหอสมุดส่วนพระองค์ที่จัดเก็บหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งที่ทรงเลือกซื้อด้วยพระองค์เองและที่มีผู้ทูลเกล้า ฯ ถวาย และดังเช่นเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการเรียงร้อยอักษร จึงทรงพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งประเภทบทความ เรื่องสั้น ความเรียง คำนำ บทกวี บทเพลง เรื่องแปล และสารคดี เป็นต้น รวมทั้งพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือน “บันทึกการเดินทาง” ที่ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน
ในปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังสนพระทัยศึกษาและฝึกฝนเรียนรู้ทักษะภาษาและวิชาการต่าง ๆ อยู่มิได้ขาด เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน เทคโนโลยีสารสนเทศ ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น พระปรีชาสามารถด้านภาษา เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วหน้า นอกจากนี้ ยังสนพระทัยเข้าร่วมการประชุม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทรงศึกษาดูงาน และทรงพบปะสนทนากับปราชญ์ด้านต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อทรงรับความรู้ใหม่ ๆ และทันสมัยอยู่เสมอ
· งานอดิเรกที่สนพระทัย
· ดนตรี
· งานศิลป์
· พระปรีชาสามารถด้านภาษา

ที่มา ... http://www.sirindhorn.net/HRH-biography.html

โครงการส่งเสริมอาชีพ


โครงการส่งเสริมอาชีพ
ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริในการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ด้อยโอกาสซึ่งอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลการคมนาคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา โดยทรงเริ่มต้นพัฒนาที่เด็กและเยาวชน ด้วยโครงการต่างๆ อาทิ เช่น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ โครงการส่งเสริมสหกรณ์ โครงการฝึกอาชีพ และโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อย่างไรก็ตามทรงตระหนักว่าการพัฒนาเด็กและเยาวชนแต่เพียงกลุ่มเดียวไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นคงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารได้ จำเป็นต้องสนับสนุนครอบครัวของเด็กและเยาวชนเหล่านั้น ให้ประกอบอาชีพมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอาหารและการศึกษาของลูกหลาน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำ โครงการส่งเสริมอาชีพ สำหรับประชาชนในถิ่นทุรกันดารขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนประกอบอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลัก โดยได้พระราชทานความช่วยเหลือทั้งในด้านการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือ พระราชทานเงินทุนสำหรับดำเนินงาน และจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมทั้งทรงช่วยหาตลาดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นด้วย โดยโปรดเกล้าฯ ให้รับผลิตภัณฑ์ต่างๆมาช่วยจัดจำหน่ายในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ๆ นอกเหนือจากที่ประชาชนจัดจำหน่ายเองในท้องถิ่น
ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนถึงปีพ.ศ. 2547 มีกลุ่มอาชีพฯ เกิดขึ้นทั้งหมด 48 กลุ่มโดยกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ มีประชาชนในถิ่นทุรกันดารเข้าร่วมเป็นสมาชิกรวมทั้งสิ้น 1,198 คน สำหรับผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มอาชีพฯ ดำเนินการผลิตมีหลากหลายประเภท สามารถจำแนกออกได้เป็น 6 ประเภท ในแต่ละประเภทยังจำแนกเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละแห่ง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประเภทที่ 1
ผ้าฝ้ายและผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย 19 กลุ่ม 484 คน
กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ากะเหรี่ยงย้อมสีธรรมชาติ 13 กลุ่ม 194 คนกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอ 6 กลุ่ม 290 คน

ประเภทที่ 2
เครื่องจักสานและแกะสลัก12 กลุ่ม 303 คน
กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้กวาด 6 กลุ่ม 70 คนกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสาน 5 กลุ่ม 211 คนกลุ่มผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว 1 กลุ่ม 22 คน

ประเภทที่ 3
แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร6 กลุ่ม 176 คน

ประเภทที่ 4
ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าไหม 4 กลุ่ม 114 คน

ประเภทที่ 5
ผลิตภัณฑ์ตัดเย็บเสื้อผ้า4 กลุ่ม 54 คน

ประเภทที่ 6
ผลิตภัณฑ์ปักและตกแต่งผ้า3 กลุ่ม 67 คน
กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าปัก 2 กลุ่ม 47 คนกลุ่มผลิตภัณฑ์บาติก 1 กลุ่ม 20 คน


ที่มา .. http://www.phufa.org/about_project_th.htm

กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร


ความเป็นมา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถไปทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารห่างไกล การคมนาคมทั่วทุกภาคของประเทศ ทรงพบปัญหาความยากจนและความทุกข์ยากของประชาชนด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนขาดแคลนอาหารที่จะบริโภค เป็นโรคขาดสารอาหารและมีมาตรฐานทางการศึกษาต่ำ สุขภาพร่างกายอ่อนแอเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ทรงเป็นห่วงใยเยาวชนเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินงาน “โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นต้นมา ปัจจุบันโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินมากว่า ๒๕ ปี ครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น ๖ ด้าน คือ ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้านงานนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ และทุนพระราชทานเพื่อการศึกษา ด้านการพัฒนาอาชีพ ด้านการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการ ด้านการพระราชทานความช่วยเหลือ และด้านความร่วมมือระดับนานาชาติ


การดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการต่างๆ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินที่องค์การและเอกชนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล และเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ คณะผู้ร่วมดำเนินโครงการฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.)” เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย